วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ISI, Scopus, TCI, Beall's List, ... (ตอนที่ 1)

            การเรียนและการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (หมายถึงนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก) นั้นถูกบังคับโดยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเกณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาคือการที่นักศึกษาจะต้องนำผลงานจากการทำวิทยานิพนธ์นั้นไปเผยแพร่ตามรูปแบบที่กำหนด เช่น ถ้าเรียนปริญญาโท แผน ก (หมายถึงภาคปรกติ) อย่างน้อยก็คือต้องไปเสนอผลงานในการประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding) หมายความว่าถ้าไปเสนอผลงานในการประชุมที่ไม่มีรายงานการประชุม (มีแค่ Abstract) ก็ยังไม่ได้ คำว่ารายงานการประชุมที่เป็นที่ยอมรับกันคือการที่รายงานการประชุมนั้นต้องมีเรื่องเต็ม (full paper) ตีพิมพ์โดยอาจเป็นเล่มหรือว่าบรรจุในแผ่นซีดี หรือแค่ on-line ก็ยอมรับได้ แต่สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกนั้นแค่นี้ไม่เพียงพอ นักศึกษาปริญญาเอกจะต้องตีพิมพ์ในวารสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีกรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง (เรียกว่ามีระบบ peer review) ซึ่งในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นการตีพิมพ์ในรูปของวารสาร (Journal) เป็นสิ่งที่ทำกันมากที่สุด นักศึกษาปริญญาโทเองก็สามารถจบการศึกษาได้ด้วยการตีพิมพ์ในวารสารเช่นเดียวกัน (ถ้าไม่อยากไปนำเสนองานในการประชุมวิชาการ)
          พอกล่าวถึงการตีพิมพ์ในสารวารที่มีการ Peer review นั้นก็จะมีเรื่องให้ต้องคิดอีกว่าแล้วจะไปตีพิมพ์ในวารสารอะไรดี เนื่องจากบนโลกนี้มีวารสารสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่มากมายมหาศาล แน่นอนว่าวารสารก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งพิมพ์อื่นๆ (หรืออาจพูดได้ว่าไม่ต่างอะไรกับสินค้าอื่นๆ) คือมีความหลายหลายสูงมากในแง่คุณภาพและราคา แต่ราคาในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงราคาที่เป็นเงินที่ต้องจ่ายเสมอไป แต่อาจจะเป็นกำลังสมองและกำลังกายที่ต้องทุ่มเทให้กับการทำงานวิจัยตลอดการเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอก
          ในการจัดระดับคุณภาพของวารสารวิชาการนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายนักและไม่ได้เป็นที่ยอมรับของทุกคนเสมอไป แต่เพื่อให้ชีวิตเราง่ายหน่อย เราก็ควรจะต้องยอมรับการจัดระดับในวงการวิชาการที่เราดำรงอยู่ ซึ่งในสาขาเทคโนโลยีอาหารและอีกหลายสาขาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นวารสารที่เราถือว่ามีคุณภาพสูงคือวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เดิมเรียกว่า ISI (Institute for Scientific Information) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Thomson Reuters ปัจจุบันเราสามารถค้นหาบทความที่อยู่ในฐาน ISI ได้ผ่านทางเว็บไซต์ Web of Science (แต่ต้องระวังให้เลือกฐานข้อมูลที่ต้องการค้นเฉพาะ Science Citation Index Expanded เท่านั้น) ISI ยังได้พยายามจัดลำดับของวารสารในแต่ละสาขาด้วยค่าที่เรียกว่า Impact factor (IF) ซึ่งในความหมายง่ายๆ ก็คือจำนวนการอ้างอิงบทความในวารสารหนึ่งๆ เทียบกับจำนวนบทความที่วารสารนั้นตีพิมพ์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ในแนวคิดก็คือถ้าวารสารตีพิมพ์บทความที่ดี น่าสนใจ ก็จะมีการอ้างอิงบทความนั้นมากทำให้วารสารนั้นมีค่า IF สูงไปด้วย เช่น วารสาร Nature ที่เป็นวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากนั้นมีค่า IF สูงมากที่ประมาณ 41 ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ค่า IF เป็นตัวระบุคุณภาพของวารสาร แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีค่าอื่นๆ ที่มีการใช้กันกว้างขวางเท่า ค่า IF มีการตีพิมพ์ออกมาทุกปีประมาณเดือนมิถุนายนในเว็บที่เรียกว่า Journal Citation Reports (JCR) ซึ่งถือว่าเป็นอีกบริการหนึ่งของ ISI ที่ต้องเสียเงินจึงจะดูได้ แต่หากเราสนใจแค่ว่าวารสารที่เรากำลังจะส่งงานไปตีพิมพ์นั้นมีค่า IF เท่าใดก็เข้าไปที่เว็บไซต์ของวารสารนั้นๆ ซึ่งมักจะมีระบุไว้เสมอ (ภาพที่ 1) โดยค่า IF จะเป็นค่าย้อนหลังเสมอ เช่นปัจจุบันปี 2015 IF ล่าสุดที่มีการรายงานออกมาคือ IF ของปี 2014


ภาพที่ 1 หน้าเว็บของวารสารซึ่งแสดงค่า IF (1.384) พร้อมทั้งลำดับตามการจัดของ JCR (57 จาก 123 ในกลุ่ม Food Science & Technology)

         สำหรับวารสารในกลุ่ม Food Science & Technology ที่อยู่ในฐาน ISI นั้นปัจจุบันมีอยู่ 123 วารสาร ซึ่งไม่ได้มีแค่วารสารที่มีชื่อที่มีคำว่า food เท่านั้น เช่น วารสาร Postharvest Biology and Technology, Cereal Chemistry, European Journal of Lipid Science and Technology ฯลฯ ก็อยู่ในกลุ่ม Food Science & Technology เช่นกัน  เช่นเดียวกันวารสารในด้าน Food Science & Technology บางวารสารก็อาจถูกจัดในกลุ่มอื่นด้วย เช่น วารสาร Food Chemistry ยังถูกจัดในกลุ่ม Chemical Engineering ด้วย ค่า IF ของวารสารในกลุ่ม Food Science & Technology นั้นไม่สูงเท่ากับสายอื่นๆ โดยวารสารที่มีค่าสูงสุดคือช่วง 4-6 นั้นจะเป็นวารสารที่ตีพิมพ์บทความประเภท Review อย่างเดียวเช่น Annual Review of Food Science and Technology (IF= 6.289), Trends in Food Science & Technology (IF=4.651) เป็นต้น ส่วนวารสารที่ตีพิมพ์บทความวิจัยนั้นก็ไล่ลงมาเรื่อยๆ เช่น Food Hydrocolloids (IF=4.09), Food Chemistry (IF=3.391), European Food Research and Technology (IF=1.559),  International Journal of Food Properties (IF=0.915), International Journal of Food Engineering (IF=0.497) เป็นต้น


          ย้อนกลับไปที่ว่าวารสารในฐาน ISI ได้รับการยอมรับมากนั้นก็ขอยกตัวอย่างให้เห็น เช่น ล่าสุดนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้รับทุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ของ สกว. นั้นถูกกำหนดให้ตีพิมพ์เฉพาะในวารสารที่อยู่ใน ISI และต้องเป็นวารสารที่มีค่า IF ด้วย จำนวน 2 เรื่อง จากเดิมที่เคยยอมรับวารสารนานาชาติอื่นๆ ด้วย


          สำหรับวารสารที่จัดทำโดยหน่วยงานในประเทศไทยที่อยู่ในฐาน ISI นั้นปัจจุบันก็มีอยู่จำนวนหนึ่งโดยที่น่าจะพอเกี่ยวข้องกับนักศึกษาก็ได้แก่ Chiang Mai Journal of Science (IF=0.371), Maejo International Journal of Science and Technology (IF=0.367) และ ScienceAsia (IF=0.347)  


          แน่นอนว่านักศึกษาและนักวิจัยส่วนใหญ่อยากตีพิมพ์ผลงานของตนลงในวารสารที่มีค่า IF สูง แต่ที่แน่นอนยิ่งกว่าก็คือไม่ใช่ทุกงานจะตีพิมพ์ในวารสาร IF สูงได้ การเลือกวารสารสำหรับตีพิมพ์จึงเป็นทั้งเรื่องของการเข้าใจงานของเราและเข้าใจวารสาร เช่น งานของเราเป็น chemistry มากๆ แต่เราอยากจะตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Food Engineering ก็อาจจะมีโอกาสการตอบรับน้อย หรืองานของเราเป็นการแปรรูปแต่เราอยากจะไปตีพิมพ์ในวารสาร Postharvest Biology and Technology ก็ไม่น่าเป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นค่า IF จึงเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งที่เราใช้ประกอบในการเลือกวารสารที่เราจะตีพิมพ์ บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่างานของเรามีปริมาณงานหรือการวิเคราะห์ด้วยวิธีจำกัด หรือเป็นงานที่มีขอบเขตการวิจัยเฉพาะ เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเฉพาะทาง ก็จำเป็นต้องพิจารณาวารสารที่ตรงกับงานวิจัยแต่อาจมี IF ต่ำลงมาซึ่งก็อาจมีโอกาสได้รับการตอบรับมากขึ้น เช่นถ้าทำวิจัยด้านคาร์โบไฮเดรต ก็ไม่จำเป็นต้องดูเฉพาะจะตีพิมพ์ใน LWT-Food Science and Technology เท่านั้น อาจดูพวก Carbohydrate Polymers, Carbohydrate Research, Journal of Carbohydrate Chemistry หรือหากทำงานด้านที่มีการทำ sensory อย่างดี ก็ยังมี  Food Quality and Preference หรือหากทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโมเดลคณิตศาสตร์ด้วยซอฟท์แวร์ก็ยังมีวารสารอย่าง Computers and Electronics in Agriculture อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น