วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ISI, Scopus, TCI, Beall's List, ... (ตอนที่ 3)


          ในระยะหลังเราจะได้ยินวารสารประเภทใหม่ที่เรียกว่า Open Access Journal  หรือ OA journal ซึ่งหมายถึงวารสารที่เปิดให้เข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจริงๆ แล้วระบบการเปิดวารสารแบบนี้มีมานานแล้วโดยเฉพาะเมื่อมีระบบเว็บเกิดขึ้นมา เนื่องจากมีวารสารที่จัดทำโดยองค์กรที่ไม่ได้หวังผลกำไรแต่อยากให้มีคนได้อ่านวารสารที่จัดทำขึ้นมากๆ ก็เลยนำขึ้นมาออนไลน์ อย่างวารสารของหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ทำระบบ OA กันมานานแล้ว แต่ต่อมาเริ่มมีคนเห็นว่าการที่เราเปิดวารสารให้เข้าถึงได้ฟรีนี่มันสามารถทำเป็นธุรกิจได้เหมือนกันหมายความว่าแทนที่แต่เดิมสำนักพิมพ์จะได้รายได้จากการให้คนสมัครสมาชิกบอกรับวารสาร ก็เปลี่ยนเป็นผู้เขียนคนไหนอยากให้มีคนอ่านบทความของตนได้ฟรีก็จ่ายเงินให้เปิดบทความให้เป็น OA ดังนั้นในแนวคิดแบบนี้ OA ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรตราบใดที่วารสารยังวางมาตรฐานในการ peer review ไว้อย่างดี ดังเช่นปัจจุบันสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Elsevier, Wiley, หรือ Springer ต่างก็มีระบบ OA ของตน อาจจะเป็นเพียงบางบทความ หรือทั้งวารสารเลยก็ได้ ซึ่งมองดูแล้วก็ถือเป็นแนวทางที่ดี

          แต่ปัญหามันก็เกิดเมื่อมีคนหัวดีแต่ประสงค์ร้าย หวังทำธุรกิจแบบง่ายๆ ด้วยการตั้งตนเป็นสำนักพิมพ์ ซึ่งอาจจะเปิดเป็นสำนักพิมพ์จริงๆ หรืออาจจะเป็นแค่ virtual คือมีคนนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แค่นั้น แล้วก็ตั้งวารสารขึ้นมาเปิดรับบทความจากนักวิจัยทั่วโลกและใช้หลักการว่าจ่ายครบตีพิมพ์แน่ นั่นคือไม่ได้มีระบบการ peer review อย่างเหมาะสม หรืออาจจะไม่มีเลย เพียงแต่ผู้เขียนต้องจ่ายเงินเพื่อตีพิมพ์ ในช่วงแรกๆ ก็มีนักวิจัยต่างๆ ทั้งด้วยความตั้งใจหรือรู้ไม่ทันก็แล้วแต่ก็หันไปส่งบทความให้วารสารเหล่านี้ เพราะใช้ระยะเวลาตอบรับเร็ว รับแน่นอน (แต่ต้องจ่ายเงิน) ก็เลยทำให้เกิดวารสารและบทความคุณภาพต่ำเกิดขึ้นมากมายบนอินเตอเน็ตซึ่งก็เป็นโชคร้ายของเราที่วารสารและบทความเหล่านี้มันช่างค้นหาแล้วเจอได้ง่ายเหลือเกิน

          เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่อยู่เฉพาะในวงการมากๆ จนกระทั่งมีบรรณารักษ์คนหนึ่งในอเมริกาชื่อ Jeffrey Beall ออกมาวิจารณ์วารสารที่เป็น OA ประเภทที่หวังแต่ได้เงินจากผู้เขียนโดยไม่สนใจคุณภาพ โดยเรียกว่าเป็น predatory publisher และจัดทำเว็บไซต์ http://scholarlyoa.com/publishers/ เพื่อเผยแพร่ชื่อของสำนักพิมพ์และวารสารเดี่ยวๆ จำนวนมากมายที่เข้าข่ายพวกต้มตุ๋นพวกนี้ ซึ่งหากเข้าไปดูก็เห็นรายชื่อยาวเหยียดจนเราอาจจะตกใจได้ นอกจากนี้ Beall เขาก็ยังพยายามหาข้อมูลต่างๆ ของกลหลอกลวงต่างๆของสำนักพิมพ์เหล่านี้มาให้อยู่เสมอ (ภาพที่ 1, 2)  เช่น มีบางสำนักพิมพ์ใช้วิธีการตั้งชื่อวารสารให้คล้ายกับวารสารที่มีชื่อเสียงโดยการเติม s บ้าง การเติม The ในชื่อบ้าง ให้คนเข้าใจผิดส่งบทความไปตีพิมพ์ หรือบางวารสารก็ลักลอบใช้อีเมล์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาใช้ในการทำธุรกิจเหล่านี้ 
 
ภาพที่ 1 Beall ระบุว่าวารสารชื่อ American Journal of Medical Sciences and Medicine ใช้ชื่อหมอที่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2013 มาเป็นชื่อบรรณาธิการของวารสาร

         
 
ภาพที่ 2 Beall ระบุว่าสำนักพิมพ์ชื่อ Sanford Inter Science Press ใช้วิชาการสร้างวารสารขึ้นมาโดยการเอาบทความเก่าๆ มาใสชื่อผู้แต่งและที่อยู่ใหม่เพื่อให้คนเข้าใจว่าวารสารนี้มีมานานแล้ว



            อาจารย์ของศิลปากรท่านหนึ่งเคยถูก copy ข้อความในบทความของท่านที่ตีพิมพ์ไปเกือบ 100 % แล้วตีพิมพ์เป็นบทความใหม่ในวารสารที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งทางอาจารย์ก็ได้พยายามติดต่อวารสารว่าบทความนั้นๆ ได้ละเมิดลิขสิทธิ์และผิดจรรยาบรรณทางวิชาการ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้นจากวารสาร


          นอกจากนี้ขณะนี้พวกสำนักพิมพ์เหล่านี้ยังขยายธุรกิจของตนไปอีก เช่น การจัดประชุมวิชาการ (Conference) โดยเลือกเมืองที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นสถานที่จัดประชุม แต่จริงๆ แล้วเป็นงานขนาดเล็ก และไม่มีคุณภาพ มีนักวิชาการหลายคนถูกแอบอ้างชื่อในหน้าเว็บของการประชุมวิชาการเหล่านี้ว่าเป็นกรรมการจัดงาน (Organizing committee) บ้าง เป็นผู้พูดที่ได้รับเชิญ (invited speaker) ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยก็มี


          ที่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องนี้เนื่องจากถึงแม้ว่าวารสารเหล่านี้จะสามารถตีพิมพ์ได้โดยง่ายโดยเราอาจจะต้องเสียหรือไม่เสียเงินก็แล้วแต่นั้น ปัจจุบันในวงการวิชาการระดับมหาวิทยาลัยนั้นเขาไม่ยอมรับกัน เช่น ใช้เพื่อการจบการศึกษาไม่ได้ (ถึงแม้ว่าสมมติว่าวารสารนั้นมีชื่ออยู่ใน ISI หรือ Scopus ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเกิดมีชื่ออยู่ใน Beall's list เข้าแล้ว ก็จะมีปัญหาขึ้นมาได้) สกอ. ก็รับรู้เรื่องเหล่านี้และไม่นับคะแนนให้สำหรับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ใน Beall's list รวมถึง สกว. ก็ไม่ยอมรับวารสารเหล่านี้ในกรณีที่ผู้วิจัยต้องมีการตีพิมพ์เพื่อปิดโครงการ หรือกรณีนักศึกษา คปก. ต้องตีพิมพ์เพื่อจบปริญญาเอกนั้นก็ใช้ไม่ได้โดยเด็ดขาด


          ในกรณีของนักศึกษานั้น การจะไปตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้อาจมีโอกาสน้อย แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการที่ไม่ควรจะไปใช้วารสารเหล่านี้มาเป็นแหล่งข้อมูลในงานวิจัย หรือใช้อ้างอิงในเล่มโครงงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เนื่องจากเราแทบจะบอกไม่ได้เลยว่าสิ่งที่เราอ่านนั้นมันเชื่อถืออะไรได้บ้างหรือไม่ 

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 ธันวาคม 2565 เวลา 13:53

    Hey thanks for sharing this amazing content, We also have some amazing content to reduce workplace stress at Resiliency Program

    ตอบลบ