ในวงการวิชาการนั้นถือว่าการตีพิมพ์บทความจะเป็นที่ยอมรับเมื่อบทความนั้นผ่านการ Peer review (เพียร์รีวิว) หรือเราเรียกว่าได้มี "การกลั่นกรองโดยกรรมการภายนอก" หมายความว่าต้นฉบับ (manuscript) ที่เราเตรียมสำหรับตีพิมพ์นั้นไม่ใช่ว่าพอส่งถึงวารสารแล้วเขาก็จะรับไปตีพิมพ์เลยทันที โดยปรกติแล้วเมื่อวารสารได้รับต้นฉบับเขาอาจมีคนที่ทำหน้าที่ดูในเบื้องต้น ในเรื่องของการจัดรูปแบบของต้นฉบับว่าได้ทำตามข้อกำหนดของวารสารหรือไม่ เช่น แต่ละหัวข้อใช้เป็นลำดับตัวเลขหรือไม่ต้องมี และที่สำคัญคือรูปแบบของการเขียนอ้างอิง จากนั้นวารสารก็จะกำหนด Editor (บรรณาธิการ) ที่จะดูแลต้นฉบับนั้นๆ ซึ่งบางวารสารก็มี Editor คนเดียว บางวารสารก็มีหลายๆ คนขึ้นกับสายงานวิจัย บางครั้ง Editor นี่ก็จะเป็นคนพิจารณาต้นฉบับเราก่อนอีก เช่น ถ้าอ่านแล้ว เรื่องไม่เข้ากับขอบเขต (scope) ของวารสาร เช่น วารสาร Food Engineering มักจะไม่รับพิจารณาบทความที่ไม่มีส่วนของ engineering เลย หรือต้นฉบับเขียนมาด้วยภาษาที่แย่มากเกินเขาก็อาจจะปฏิเสธที่จะรับพิจารณาได้เลย (เช่น ภาพที่ 1 เรื่องบนสุด ทางวารสารแจ้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่งาที่เกี่ยวข้องกับ Food โดยตรงจึงไม่รับพิจารณา)
หากต้นฉบับของเราเตรียมมาอย่างดี
มีการตรวจเรื่องภาษาอังกฤษแล้ว เนื้อหาอยู่ใน scope ของวารสาร Editor ก็จะส่งต้นฉบับเราให้กับ
Reviewer หรือเราเรียกว่า "ผู้อ่าน" หรือถ้าเป็นของไทยมักเรียก
"ผู้ทรงคุณวุฒิ"
ซึ่งมักจะเป็นนักวิจัยที่อยู่ในสายเดียวกับเรื่องที่ส่งไป โดยการเลือก reviewer
นั้นก็มีอยู่กัน 2 แบบใหญ่ๆ คือ
แบบแรกนั้นบางวารสารจะยอม (หรือบางครั้งบังคับ) ให้เราเสนอชื่อ reviewer ที่สามารถพิจารณาเรื่องของเราได้ ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของผู้เขียนว่าจะเสนอใครก็ได้
แต่ทาง Editor ก็จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะส่งต้นฉบับนั้นให้คนที่ผู้เขียนเสนอมาหรือไม่ อีกแบบก็คือวารสารเป็นผู้หา reviewer เองโดยไม่ถามผู้เขียนเลย โดยทั่วไปวารสารมักจะหา reviewer อย่างน้อย 2 คน วารสารอาจจะมีชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเป็น
reviewer สำหรับแต่ละเรื่องในมือแล้วก็ได้
หรือบางวารสารก็ใช้การเลือก reviewer
จากรายชื่อซึ่งอาจจะมาจากคนที่เคยตีพิมพ์งานในด้านนั้นๆ เป็นต้น
แล้วส่งอีเมล์ไปถามว่าคนคนนั้นสนใจจะอ่านต้นฉบับนั้นๆ ให้หรือไม่
การกระจายด้วยอีเมล์ทำให้บางครั้งต้นฉบับอาจถูกอ่านโดย reviewer 3 หรือ 4 คนก็ได้
ไม่ว่าจะได้
reviewer มาด้วยวิธีการใด เมื่อ reviewer ได้รับบทความ
ก็จะมีหน้าที่อ่านและพิจารณาคุณภาพและความเหมาะสมว่าวารสารควรจะตีพิมพ์ต้นฉบับนั้นหรือไม่
ซึ่งโดยทั่วไปก็มีประเด็นที่ reviewer
ต้องทำการประเมินหลายประเด็น แต่หลักๆ ก็ได้แก่การค้นพบใหม่ (Scientific new
findings) หรือ Novelty ของบทความ
นั้นคือความใหม่หรือสิ่งที่ค้นพบใหม่นั้นอยู่ในระดับใด
จากนั้นก็เป็นเรื่องของคุณภาพการนำเสนอบทความ เช่น คุณภาพของภาพ
(ทำกราฟมาอ่านรู้เรื่องหรือไม่) คุณภาพของตาราง
(ทำเป็นตารางแล้วอ่านรู้เรื่องหรือไม่) เรื่องภาษา เป็นต้น โดย reviewer สามารถจะเขียนระบุไปได้ว่าตรงไหนของงานไม่ดี รวมถึงตั้งคำถามต่างๆ
ที่สงสัย หรือเห็นว่าควรเพิ่มอะไรตัดอะไร
เหมือนกับเวลาอาจารย์ตรวจเล่มวิทยานิพนธ์ของนักศึกษานั่นเอง
แต่อาจารย์มักจะรู้เรื่องงานของนักศึกษา แต่ reviewer
ไม่สนใจว่าเราทำงานมาอย่างไร แต่เขาสนใจว่า "ควร" จะทำงานอย่างไรมากกว่า
จากนั้นท้ายสุด reviewer จะต้องลงความเห็นว่าจะรับ (accept) หรือไม่รับ (reject) บทความนั้นๆ
หรืออาจจะให้แก้ไขก่อน (revision) ซึ่งก็จะมีแบบ minor
revision (แก้ไขนิดหน่อย จุดที่ไม่สำคัญ) หรือ major
revision (ต้องแก้ไขเยอะมาก และเป็นจุดสำคัญ)
เมื่อ
reviewer ทุกคนที่วารสารได้ขอให้อ่านบทความนั้นๆ
ส่งผลการพิจารณามาให้แล้ว ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของ Editor ที่จะต้องตัดสินผลจากความคิดเห็นต่าง
ๆของ reviewer ทุกคนซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ แต่ Editor
มักจะยึดความคิดเห็นของ reviewer ที่วิจารณ์และตรวจลงในรายละเอียดมากกว่า reviewer ที่แค่บอกว่า ดี ผ่าน แค่นั้น หากบทความของเราไม่ได้ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ (reject)
โดยส่วนใหญ๋ก็คือวารสารก็จะให้เวลากับผู้เขียนเพื่อแก้ไขตามสิ่งที่ถูกวิจารณ์
หรือโต้แย้ง (rebuttal) ได้
ซึ่งบางครั้งคำวิจารณ์ก็อาจจะรุนแรง บางครั้งก็มาแบบถนอมน้ำใจ
บางครั้งก็บอกว่าให้ไปทำแล็บเพิ่มแล้วจึงจะยอมรับ ก็ขึ้นกับเราว่าจะทำอย่างไรดี
ถ้าคิดว่าสามารถแก้ไขได้ (เช่น แค่เขียนแก้ไขใหม่ เรียบเรียงใหม่ แก้ไขกราฟ
วิจารณ์เพิ่ม) ก็แก้ไขไป (revise) แต่บางครั้งถ้าต้องทำแล็บเพิ่มแต่เราไม่สามารถทำได้แล้ว
เราก็มีสิทธิขอถอน (withdraw) บทความ
หากเราตัดสินใจแก้ไข
เมื่อเราดำเนินการเรียบร้อยแล้วภายในระยะเวลาที่วารสารกำหนดเราก็จะ submit บทความที่เป็น revised version เข้าไปใหม่ ซึ่ง Editor
คนเดิมก็อาจจะแค่ดูว่าเราแก้ไขตามที่วิจารณ์ไปเรียบร้อยหรือไม่หากเป็น
minor revision หรือบางครั้งก็จะส่งให้ reviewer ใหม่อีก (ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิม หรือคนใหม่ก็ได้อีก) จากนั้น Editor
ก็มักจะตัดสินใจว่าจะ accept หรือ reject กระบวนการนี้ก็จะวนซ้ำได้หลายรอบ (ภาพที่ 1)ภาพที่ 1 ตัวอย่างผลการ Peer review ของบทความหนึ่ง ในครั้งแรกเป็น Major revision หลังจากแก้ไขแล้วก็ยังได้เป็น Minor revision อีก แก้ไขอีกรอบ ก็ยัง Minor revision อีกรอบ แก้ไขรอบสุดท้ายจึงได้ Accept
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น